ศิลปะแห่งดนตรีบำบัด

เสน่ห์ของเสียงดนตรีนั้น นอกจากจะนำมาแต่งเติมสีสันในชีวิตแล้วยังสามารถช่วยบำบัดทั้งร่างกายและจิตใจได้ในเวลาเดียวกัน เมื่อคนเราได้ยินเสียงดนตรีสมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่รับรู้ถึงจังหวะง่ายๆไม่ซับซ้อน ในขณะที่สมองซีกขวาจะรับรู้ถึงท่วงทำนอง ระดับเสียงสูงต่ำ หรือจังหวะที่ซับซ้อนมากขึ้น

เสียงดนตรีนอกจากจะฟังเพื่อความสุนทรีแล้วในทางจิตวิทยายังได้นำเสียงดนตรีมาใช้ในการปรับสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีมุมมองในเชิงบวก มีสมาธิ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ความตึงเครียด หรือความวิตกกังวลลดลง พร้อมกับกระตุ้นประสาทสัมผัสการรับรับรู้ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ความจำให้ดีขึ้น  ซึ่งดนตรีที่นำมาใช้ต้องมีการสอดคล้องกัน เช่น จังหวะลีลา  ระดับเสียง หรือความเร็ว เพราะสิ่งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญมากจะทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป หากจังหวะดนตรีเบาๆช้าๆก็จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เศร้า ในขณะเดียวกันหากเสียงดนตรีมีจังหวะและระดับเสียงที่เร็ว ก็จะทำให้ตื่นตัว สดชื่น ร่าเริง สนุกสนาน จะเห็นได้ว่าดนตรีก็เปรียบเสมือนศิลปะแขนงหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการบำบัดเยียวยาจิตใจหรือพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่มนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยทั่วไปแล้วดนตรีบำบัด เป็นศาสตร์ที่นำดนตรีหรือองค์ประกอบอื่นๆทางด้านดนตรีมาประยุกต์ใช้ผ่านกิจกรรม โครงสร้างต่างๆ หรือมีหลักเกณฑ์เฉพาะก็ได้ ซึ่งผู้ดำเนินการจะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันที่ตั้งไว้แต่ต้น นั่นก็คือการเน้นพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดนตรีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนามนุษย์ เพราะไม่ว่าจะยุกต์ไหนๆหรือศักราชใดก็ตามจะเห็นดนตรีเข้ามามีบทบาทในหลายๆด้านก่อให้เกิดเป็นอาริยะธรรมและวัฒนธรรมต่างๆขึ้นมากมาย