สร้างสุขในการทำงานด้วยภาษารัก

คำพูดชื่นชมให้กำลังใจ (Word of Affirmation) เป็นภาษารักที่ใช้คำพูดในแง่บวก เพื่อบ่งบอกความรู้สึกดีๆ เช่น พูดหนุนใจ พูดชื่นชมความสำเร็จ พูดให้กำลังใจ พูดด้วยปราณี หรือการพูดคำว่า “รัก” เป็นต้น คนที่ถนัดภาษานี้มักพูดชมเชยคนอื่นได้ง่าย และมักจะต้องการให้คนอื่นชื่นชมตนเองด้วยเช่นกัน

การปรับใช้ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน เมื่อได้รับคำชมเชย พวกเขาจะรู้สึกซาบซึ้ง และรับรู้ได้ว่าคนในองค์กรมองเห็นคุณค่าของเขา เป็นการเพิ่มความสุขในการทำงานมากขึ้น

การให้เวลาที่มีค่า (Quality Time) เป็นภาษารักที่ให้ความสำคัญกับการใช้เวลาร่วมกัน ไม่ต้องการเวลามาก แต่เป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพและมีค่าจริงๆ เช่น การได้อยู่ใกล้ชิดกัน เน้นทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้กันและกัน ใส่ใจความคิด ความรู้สึก

การปรับใช้ในองค์กร หัวหน้าอาจแวะมาถามไถ่ลูกน้องว่าเป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไรกับงานนี้ ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เพียงเท่านี้ ลูกน้องจะรู้สึกซาบซึ้ง และรู้สึกมีพลัง ตั้งใจทำงานต่อไป

การให้ของขวัญ (Gifts) เป็นภาษารักของหลายๆคน การให้ของขวัญในวันสำคัญ ของฝากเล็กๆน้อยๆจากการไปเที่ยว การทำหรือซื้อขนมที่ชอบให้ หรือแม้แต่คำอวยพรสั้นๆ หรือโปสการ์ดสักใบ เพียงเท่านี้ก็ทำให้คนที่มีภาษารักเป็นของขวัญมีความรู้สึกที่ดี เพราะพวกเขามักสนใจความตั้งใจของผู้ให้มากกว่ามูลค่าของของชิ้นนั้นๆ

การปรับใช้ในองค์กร แม้จะได้รับของขวัญชิ้นเล็กๆ ก็ตาม แต่ผู้ที่มีภาษารักกลุ่มนี้ จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นคนพิเศษ ทำให้มีกำลังใจในการทำงาน เพราะรู้สึกว่าได้รับการเอาใจใส่ดูแล

การบริการดูแล (Acts of Service) เป็นภาษาที่บ่งบอกถึงการดูแล การบริการในเรื่องต่างๆ เช่น ขับรถไปส่ง ทำอาหารให้ทาน เป็นต้น คนที่มีภาษารักเช่นนี้ มักจะบอกว่า “การกระทำ สำคัญกว่าคำพูด”

การปรับใช้ในองค์กร คนในองค์การอาจให้อาจให้ความช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระงานให้ในยามที่คนภาษาบริการนี้ต้องการ เพราะจะทำให้พวกเขาซาบซึ้งเมื่อมีคนหยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้ไม่ว่าจะเป็นการช่วยทำงาน หรือแม้การอาสาซื้อข้าวเที่ยงตอนเขาทำงานยุ่งอยู่ก็ตาม

การสัมผัส (Physical Touch) เป็นภาษาที่เน้นการสัมผัสทางกายเป็นตัวสื่อคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นการจับมือ การตบไหล่เบา หรือแม้แต่การลูบหัวเบาๆก็ตาม เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้คนที่มีภาษาสัมผัส รู้สึกได้รับความเอาใจใส่ และรู้สึกดีจากการทำแบบนี้มากกว่าคำพูดใดๆ

การปรับใช้ในองค์กร การแสดงการสัมผัสกันอย่างเหมาะสม เช่น หัวหน้าตบไหล่เบาๆ ให้กำลังใจลูกน้อง ด้วยความใส่ใจ ก็ช่วยให้คนที่มีภาษารักเช่นนี้ รู้สึกได้รับการเห็นคุณค่าในองค์กร

ไม่ว่า “ผู้รับสาร” หรือ “ผู้ส่งสาร” จะถนัดภาษารักแบบใดก็ตาม
เพียงเรารู้จัก และยอมรับ แค่นี้ก็ช่วยสร้างความสัมพันธ์ และบรรยากาศที่ดีๆ ในการทำงานได้