พัฒนาการ 4 ด้าน กับการเปลี่ยนแปลง 4 ช่วงวัย

พัฒนาการทางร่างกาย ( Physical Development)

วัยเด็ก       วัยเด็กร่างกายจะเจริญเติบโตเพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ สามารถทำงานได้ตามหน้าที่  สามารถใช้อวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดีขึ้น ระบบกล้ามเนื้อ และระบบประสาทสัมผัสทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ขึ้น

วัยรุ่น        ร่างกายในช่วงวัยรุ่นถือว่าเป็นช่วงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะมีความเป็นชายหญิงมากขึ้น เช่น เพศหญิงจะเริ่มมีหน้าอก สะโพกผาย และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ส่วนเพศชายเริ่มมีหนวดเครา นมขึ้นพาน มีลูกกระเดือก เสียงแตก และเริ่มมีฝันเปียก

วัยผู้ใหญ่    เป็นช่วงวัยที่ร่างกายสมบูรณ์เต็มที่ มีความแข็งแรง คล่องแคล่วว่องไว การรับรู้ต่างๆมีความสมบูรณ์เต็มที่

วัยสูงอายุ   วัยนี้เป็นวัยที่ระบบอวัยวะต่างๆเริ่มเสื่อมลงทั้งอวัยวะภายในและภายนอก  เช่น มีผมหงอก มีรอยเหี่ยวย่น หลังโกง กล้ามเนื้อหย่อนสมรรถภาพ เคลื่อนไหวช้าลง การได้ยินเสื่อมลง สายตาฝ้าฟาง ฯลฯ

พัฒนาการทางจิตใจ  ( Psychological Development)

วัยเด็ก       มีการพัฒนาด้านจิตใจ โกรธง่ายหากไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ รักบุคคลที่ให้การตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ กลัวสิ่งแปลกใหม่ ช่างซักถาม  ช่างสงสัยทุกเรื่องและถามได้ตลอดเวลา

วัยรุ่น        เป็นช่วงวัยที่มีอารมณ์ เปลี่ยนแปลงง่าย  อยากรู้ อยากเห็น ต้องการหาประสบการณ์แปลกใหม่ ต้องการความรักความห่วงใย  และต้องการการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน หรือกลุ่มเพื่อน

วัยผู้ใหญ่    เป็นช่วงวัยที่มีความมั่นคงทางจิตใจดีกว่าวัยรุ่น มีพัฒนาการด้านอารมณ์หลายรูปแบบ มีความรู้สึกที่จะปรารถนาใช้ชีวิตคู่ มีการใช้เหตุผลทั้งกับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น

วัยสูงอายุ   มีความรักในบุคคลอันเป็นที่รักโดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว มีอารมณ์เหงา ว้าเหว่ รู้สึกว่าคุณค่าของตนเองลดลง เนื่องจากต้องพึ่งพาบุตรหลาน รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของคนอื่น มักแสดงอาการหงุดหงิด น้อยใจ ต่อบุตรหลาน มีความเศร้าโศก มีผลกระทบต่อจิตใจ  สุขภาพกาย  และพฤติกรรม

พัฒนาการทางสังคม ( Social Development)

วัยเด็ก       ชอบเข้าสังคม ชอบการพบปะพูดคุยกับผู้คน มีเพื่อนเล่นทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ มีความคิดและการเล่นที่อิสระไม่ชอบกฎเกณฑ์ ต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มโดยการแบ่งปันสิ่งของให้กับผู้อื่น เริ่มเรียนรู้มารยาทการไหว้ทักทาย การพูดคุย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เรียนรู้ที่จะระมัดระวังคนแปลกหน้า

วัยรุ่น        เริ่มห่างจากทางบ้าน ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้อง สนใจเพื่อน จะใช้เวลากับเพื่อนนานๆ  มีกิจกรรมนอกบ้านมาก  เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม สนใจสังคมสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

วัยผู้ใหญ่    ให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อนลดลง แต่สัมพันธภาพในเพื่อนที่ใกล้ชิดยังคงอยู่ เริ่มใช้ชีวิตครอบครัวกับคู่ของตนเอง เกิดการปรับตัวกับบทบาทใหม่ การมีปฎิสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวเพิ่มขึ้น

วัยสูงอายุ   สังคมส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุคือครอบครัวหรือเพื่อนร่วมวัย กิจกรรมของผู้สูงอายุจึงมักเป็นกิจกรรมการเลี้ยงดูหลาน  ดูแลบ้านให้กับบุตรหลาน การทำกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมในชุมชน เช่น เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ  เป็นต้น

พัฒนาการทางสติปัญญา ( Intellectual Development)

วัยเด็ก       ชอบอิสระชอบแก้ปัญหาตามความคิดและวิธีการของตนเอง แสวงหาวิธีการต่าง ๆ จากการทดลองปฏิบัติผิดถูก การซักถาม แสดงออกทางการเล่น สามารถจำสิ่งของหรือบุคคลต่าง ๆ อย่างถูกต้อง มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก สามารถใช้ภาษาได้ดีขึ้น

วัยรุ่น        มีความคิดเป็นแบบรูปธรรม สามารถเรียนรู้ เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น มีความสามารถในการคิดตามหลักเหตุผล และวิเคราะห์ สิ่งต่างๆได้มากขึ้น ความสามารถทางสติปัญญาเหมือนผู้ใหญ่  แสดงเอกลักษณ์ในสิ่งที่ตนเองชอบหรือถนัด สนใจภาพลักษณ์ของตนเอง

วัยผู้ใหญ่    มีพัฒนาการทางความคิดสติปัญญาสูงที่สุดของพัฒนาการ มีความสามารถทางสติปัญญาสมบูรณ์ที่สุด คิดเป็นระบบ มีความคิดเป็นรูปแบบนามธรรม มีความคิดเปิดกว้าง ยืดหยุ่นมากขึ้น รู้จักจดจำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ดี

วัยสูงอายุ   ผู้สูงอายุจะมีความเสื่อมของเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้น และจำนวนเซลล์ลดลงตามอายุ เริ่มมีอาการความจำเสื่อม โดยเฉพาะความจำในเหตุการณ์ปัจจุบัน

มนุษย์ทุกคนต่างก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสังคม สภาพแวดล้อม รวมไปถึง การแปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาของตนเอง ซึ่งสามารเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่หากเราเรียนรู้และเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงก็จะช่วยให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม

 

ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/337344