จิตวิทยา เพื่อความสุขของครอบครัว

จิตวิทยาครอบครัว เพื่อครอบครัวที่เป็นสุข สถาบันครอบครัวเป็นระบบความสัมพันธ์ที่มีความเชื่อมโยงกัน ครอบครัวจึงเป็นแหล่งสำคัญที่ให้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ความอบอุ่น ความเข้าใจ กำลังใจ และเป็นแหล่งพักพิงทางใจในยามมีทุกข์ การสร้างสรรค์ครอบครัวให้อบอุ่นได้ต้องเริ่มจากการพูดจาที่ดีต่อกัน ไม่นำครอบครัวของตัวเองไปเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น นอกจากนี้แล้วสังคมยังอาศัยสถาบันครอบครัวเพื่อเป็นแหล่งสร้างสมาชิกให้อีก ด้วย ครอบครัวได้เริ่มต้นจากคนสองคนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยมีตัวแปรเรื่องความรักและ การเลือกคู่ครองดังนี้

 

  1. ความใกล้ชิดสนิทสนม
  2. คนเรามักจะแต่งงานกับคนที่อยู่ใกล้ ดังนั้น ความรักทางใกล้จึงได้เปรียบกว่าความรักทางไกล ดังสำนวนว่า รักแท้แพ้ใกล้ชิด นั่นเอง
  3. ความสวยความหล่อ เป็นตัวแปรสำคัญที่ดึงดูดคนให้มารู้จักกัน สนิทสนม พูดคุย และก่อให้เกิดความรักต่อกัน
  4. ภูมิหลังทางสังคมคล้ายกัน เช่นระดับการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน ทำให้พูดคุยกันง่าย คุยกันรู้เรื่อง
  5. ความคิดเห็นตรงกัน คือการมีทัศนคติตรงกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีความคิดเห็นตรงกัน มักจะมีความสุขเวลาอยู่ร่วมกัน
  6. ทัศนคติใกล้เคียงกัน เช่น ชอบทำอาหาร กับชอบรับประทาน อารมณ์ร้อนกับอารมณ์เย็น ช่างพูดกับชอบฟัง เป็นต้น
  7. ความพร้อมของวัย ปัจจุบันหากแต่งงานอายุน้อยกว่า 20 ปี ต้องถือว่าเป็นวัยที่ยังไม่พร้อมต่อการใช้ชีวิตคู่
  8. อาชีพคล้ายคลึงกัน เป็นตัวแปรที่ทำให้คนเราชอบกันได้ เช่นคนที่อยู่ในอาชีพเดียวกัน

คู่แต่งงานที่ได้เริ่มต้นใช้ชีวิตคู่กันสักระยะหนึ่งจะตระหนักว่า การใช้ชีวิตคู่เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องการความละเอียดอ่อน และความเอาใจใส่อย่างมาก การเรียนรู้การใช้ชีวิตคู่ของคู่แต่งงาน เพื่อจะให้ชีวิตรักประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้มีปัจจัยต่างๆดังนี้

  1. การพูดให้น้อยลง จากที่ฝ่ายภรรยาเป็นคนช่างพูดหรือถามเซ้าซี้กวนใจ ก็ควรคิด ก่อนพูด และพูดแต่เรื่องที่มีสาระ มองข้ามข้อพกพร่องเล็กๆน้อยๆไปบ้าง
  2. ความเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ลดการยึดถือตัวเองเป็นใหญ่
  3. พบกันครึ่งทางหากมีปัญหา ชีวิตคู่ย่อมหนีไม่พ้นการทะเลาะเบาะแว้งหรือกระทบกระทั่งกัน หนักนิดเบาหน่อยต้องให้อภัยกัน อย่ามัวถือทิฐิว่า “ฉันไม่ผิด เธอสิผิด” รู้จักยอมกันบ้าง พบกันครึ่งทางคือไม่มีใครถูก ใครผิด เพียงแต่เป็นการเข้าใจผิดกันเล็กน้อย ดังนั้นรอยยิ้มเท่านั้นที่จะประสานปัญหาได้
  4. หาเวลาอยู่ร่วมกัน เรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคู่รักหรือสามีภรรยายุคใหม่ ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ควรหาเวลาอยู่ด้วยกันให้มากขึ้น หากเป็นวันหยุดยังมีกิจกรรมอื่นที่พรากคู่รักให้ห่างกันตลอดเวลา มันอาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อคู่รักอย่างแน่นอน ดังนั้นคู่รักควรปรับเวลากันใหม่ เช่นขับรถรับส่งกันไปทำงาน หาโอกาสคุยกันขณะรถติด ปลีกเวลากลางวันออกมารับประทานอาหารด้วยกัน การไปเดินดูของเก่าตามร้าน การไปซื้อหนังสือที่ชอบ หรือการออกกำลังกายด้วยกัน
  5. ใช้ชื่อเล่นน่ารักๆในการเรียกกันสองคน ผู้ชายบางคนอาจรู้สึกเขิน แต่ถ้าหากทำได้แล้วสิ่งที่จะได้รับมันมากจนหาค่ามิได้ การเรียกกันแบบเด็กๆจะช่วยให้หายตึงเครียด รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น
  6. อย่าโทรศัพท์ฟ้องพ่อแม่เวลาชีวิตคู่มีปัญหา ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับคู่สมรสที่เพิ่งแยกบ้านออกมาจากครอบครัวเดิม เพื่อออกมาสร้างครอบครัวใหม่ด้วยกัน ดังนั้นหากชีวิตคู่มีปัญหาควรช่วยกันหาทางแก้ปัญหาก่อน
  7. รักษาความสัมพันธ์กับพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายไว้ การรักษาความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายกับญาติพี่น้อง เป็นเรื่องดีอย่างยิ่งสำหรับชีวิตครอบครัว มันเป็นความรู้สึกทางบวก โดยเฉพาะความรู้สึกว่า สามีหรือภรรยาเกิดความสบายใจในทุกกรณี เช่น ความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกเอาเปรียบ เพราะมีสิทธิของภรรยาหรือสามีอย่างเต็มที่ การที่ทุกคนยอมรับคุณก็เป็นเกราะกำบังในเรื่องของมือที่สามที่พยายามแทรกแซง เข้ามาในชีวิตรักของทั้งคู่
  8. ให้ของขวัญกันและกัน การทำเช่นนี้จะทำให้หวนระลึกถึงช่วงที่รักกันใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นต้องให้ของขวัญที่มีราคาแพง แต่อาจเป็นเพียงวันหนึ่งที่คุณ เหนื่อยจากงานแทบหมดแรง เมื่อกลับมาบ้านพบว่า สามีหรือภรรยา จัดโต๊ะอาหารไว้รอมีกับข้าวของโปรดของคุณอย่างรู้ใจเพียงแค่นี้คุณก็จะ รู้สึกซึ้งใจในความรักของเขาหรือเธอมากขึ้น เพราะนั่นเป็นการบอกความนัยว่าเขาหรือเธอรักคุณมากนั่นเอง
  9. รักษาอารมณ์ขันด้วยกันตลอดไป อารมณ์ขันนั้นนักจิตวิทยาครอบครัว ยอมรับว่ายิ่งกว่ากาวตราช้างสำหรับชีวิตรักเลยทีเดียว เพราะการมีอารมณ์ขันเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ชีวิตสมรสเป็นสุข ช่วยให้อยู่ด้วยกันด้วยความราบรื่น
  10. ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งสำคัญตามหลักพื้นฐานของชีวิตคู่
  11. ความเชื่อมั่นในกันและกัน ความเชื่อมั่นนี้จะทำให้ชีวิตคู่มีความราบรื่นมากเช่น การที่สามีบอกกับภรรยาว่าจะไปทำธุระที่ไหน แล้วเธอก็มั่นใจว่าเขาไม่ได้โกหก หรือถ้าเขากลับบ้านดึกโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า แต่เธอก็ยังเชื่อมั่นว่า สามีถูกเรียกประชุมด่วนนั่นเอง
  12. ต้องเป็นเพื่อนกัน รู้จักสรรหาแต่ถ้อยคำที่ดีมาพูดให้คู่รักของตนเองสบายใจ รู้จักแบ่งปันความรู้สึกต่อกัน เข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายเสมอว่าเขาหรือเธอรู้สึกอย่างไร ดังนั้น ความเป็นเพื่อนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตสมรสยั่งยืนและเป็นสุข
  13. ให้ความสำคัญกับสามีหรือภรรยา จดจำวันสำคัญต่างๆได้เช่น วันเกิด วันครอบรอบวันแต่งงาน แสดงถึงความเอาใจใส่และการให้ความสำคัญต่อกันและกัน
  14. นับถือในกันและกัน ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นด้วยการนับถือตนเองก่อน เพราะจะช่วยทำให้รักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ขณะที่ชีวิตแต่งงานมีการ เติบโต มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม เช่นเมื่อสามีภรรยามีหลายอย่างที่แตกต่างกันมาก แต่ทั้งสองคนได้เรียนรู้ ที่จะสื่อสารออกมาในด้านความคิดและการกระทำ ดังนั้นเมื่อมองเห็นตัวตนของเขาหรือเธอได้ชัดเจนแล้วก็จงพยายามให้อภัยและ ยอมรับในตัวตนของเขาหรือเธออย่างที่เป็นอยู่ โดยพยายามมองแต่ในด้านที่ดี อย่านำเขาหรือเธอไปเปรียบเทียบกับคนอื่น อย่าจู้จี้ ในเรื่องราวที่ไม่พอใจเล็กๆน้อยๆ แต่จงตระหนักว่า ชีวิตแต่งงานที่ดีมีความสุขนั้นเป็นส่วนผสมของความผูกพันและความเป็นอิสระ เสรี
  15. มีความประนีประนอมต่อกัน จะทำให้คู่สมรสรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นเวลาที่ทั้งสองมีความขัดแย้ง หรือมีปัญหาระหว่างกัน ต่างคนต่างก็ยอมรับว่าตัวเองผิด แล้วยอมเอ่ยคำขอโทษ ก็ทำให้เกิดการประนีประนอมกันเป็นนิสัย สามารถนำไปใช้ได้ในทุกครั้งในชีวิตแต่งงาน เช่นการผลัดกันไปรับลูก การสอนการบ้านลูก หรือการผลัดกันทำงานบ้านในเวลาที่อีกฝ่ายไม่ว่าง
  16. การรู้จักให้อภัยกัน
  17. หัดเป็นคนใจเย็น ความใจเย็นมีส่วนให้คู่สมรสไม่ผลีผลามทำอะไรที่ต้องทำให้ต้องรู้สึกเสียใจไป ตลอดชีวิต
  18. ช่วยเตือนในสิ่งที่เขามักจะทำผิดพลาดบ่อยๆ แล้วให้โอกาสแก้ตัวใหม่
  19. อย่าเอาแต่ใจตัวเอง ควรรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ มองทุกอย่างด้วยเหตุผล
  20. อย่าเป็นคนขี้หึง
  21. อย่าจ้องจับผิด เพราะจะทำให้คู่ของตนอึดอัดไม่สบายใจ

ข้อปฏิบัติ 11 ประการสำหรับภรรยา

  1. มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อสามี
  2. มีความเป็นแม่ศรีเรือน มีเสน่ห์ปลายจวัก
  3. ไม่เป็นผู้หญิงพูดมาก ไร้สาระไปเสียทุกเรื่อง เพราะผู้ชายส่วนใหญ่เป็นคนเบื่อง่าย ควรสรรหาเรื่องราวมาพูดคุยให้ถูกกาลเทศะ
  4. ควรพึ่งพาตนเองได้ในแทบทุกเรื่อง ส่วนมากผู้ชายจะรู้สึกชื่นชมที่เห็นภรรยาช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การขับรถไปทำงานเองได้ การไปธุระโดยที่ไม่ต้องให้เขาไปด้วย เป็นต้น
  5. ไม่ดื้อ ไม่วุ่นวายกับสามีมากเกินไป การกักตัวเขาไว้ไม่ให้ไปไหนนอกจากภรรยาต้องไปด้วยนั้น การกระทำเช่นนี้จะทำให้สามีทนไม่ได้ หากการกระทำในเรื่องนี้เกิดขึ้น จะทำให้สามีไม่อยากอยู่บ้าน แต่จะไปอยู่ที่อื่นที่ทำให้เขาสบายใจแทน
  6. มีเหตุผล เข้าใจอะไรง่ายๆในทางที่ดี ที่ถูกต้อง
  7. รู้จักปรับปรุงตนเองให้ดูดีอยู่เสมอ ควรดูแลให้มีบุคลิกภาพดีอยู่เสมอ สามารถออกสังคมกับเขาได้
  8. รู้จักวางแผนการใช้เงินให้เหมาะสม
  9. รู้จักปรึกษาหารือให้สามีมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ เพราะผู้ชายชอบแสดงความเป็นผู้นำ ถึงแม้ว่าจะชอบภรรยาที่ฉลาดหลักแหลม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภรรยาต้องเก่งกว่าสามี โดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ เช่น การซื้อรถยนต์ การซื้อบ้าน การซื้อที่ดิน และการตกแต่งบ้าน
  10. ควรยกย่องให้เกียรติสามีต่อเพื่อนฝูง และญาติพี่น้องของเขาอย่างสม่ำเสมอ
  11. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในครอบครัว ควรรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คอยเป็นกำลังใจให้แก่คนในครอบครัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อสถาบันครอบครัวที่มั่นคง ต่อไป

ข้อปฏิบัติ 6 ประการสำหรับสามี

  1. มีความซื่อสัตย์ต่อภรรยา
  2. ยกย่องให้เกียรติในฐานะที่เป็นภรรยา
  3. มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
  4. หาเครื่องแต่งกายให้เป็นของขวัญตามโอกาส ดังสาระธรรมของพระสุนทรพิพิธท่านกล่าวไว้ว่า หน้าที่ของสามีมี 4 ประการ คือ ใจหนัก รักพอ ขอให้ ใช้เป็น การครองคู่เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะการที่คนสองคนจะใช้ชีวิตคู่ด้วยกันอย่างมีความสุขนั้น เป็นเรื่องที่ดีและส่งเสริมพลังใจ พลังชีวิตที่ดีงาม
  5. อยู่เคียงข้างยามประสบปัญหา เผชิญกับภาวะวิกฤตต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งความผูกพันทางจิตใจที่เกิดขึ้นขณะเผชิญปัญหาร่วมกันจะมีส่วนในการสร้าง ชีวิตคู่ให้ไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้
  6. เชื่อในคำสอนของพระพุทธศาสนาที่จะนำสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตคู่ เพราะหัวใจของความสุขในชีวิตคู่คือการเป็นคนดีและปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในสังคม ดังคำพูดที่ว่า ‘ครอบครัวคือรากฐานที่มั่นคงในสังคม ‘จงร่วมมือกันสร้างครอบครัวที่ดี โดยปฏิบัติหน้าที่ของตนตามทางอันควร สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะผนึกเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ก่อเกิดความสงบสุขในสังคมสืบต่อไป.

อ้างอิงจาก https://www.l3nr.org/posts/200241