การเรียนรู้ชีวิต พัฒนาบุคลิกภาพ และการปรับตัวในสังคม

การเรียนรู้ชีวิต พัฒนาบุคลิกภาพ และปรับตัวในสังคม 

เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องไปด้วยกัน  การที่คนเราจะมีความสุขในชีวิตได้ คือเราต้องมีความสุขจากภายใน และความสุขจากภายนอกด้วย

ความสุขจากภายใน คือ การที่เรารู้จักตนเอง เข้าใจตนเองว่าตนชอบอะไรไม่ชอบอะไร เข้าใจข้อดี ข้อด้อยของตนเอง และพร้อมแก้ไขในจุดบกพร่องต่างๆรวมถึงเยียวยารักษาบาดแผลในใจเหล่านั้นให้หาย ยอมรับในความสามารถที่เราทำได้ดีและทำได้ไม่ดี และจะดีอย่างมากถ้ารู้ว่าตนเองมีปมปัญหาที่อยู่ในใจส่วนลึกอะไรบ้าง การเข้าใจตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจผู้อื่นและเป็นตัวสร้างความมั่นใจในตนเองของคนเราขึ้นมา เมื่อมั่นใจในตนเองแล้วก็จะมีความสามารถปรับตัวในสังคมได้เป็นอย่างดี

ความสุขจากภายนอก หมายถึง การที่เราดำรงชีวิตในสังคมที่มีครอบครัว มีเพื่อน มีการงาน อยู่ในสังคมแล้วเรามีความสุข ได้รับการยอมรับจากสังคม เรียกได้ว่ามี มีทักษะทางสังคมที่ดี ซึ่งทักษะทางสังคมที่ดีก็มาจากการที่เรามั่นใจในตนเอง มีการเรียนรู้สิ่งต่างๆจากประสบการณ์ในชีวิต เรียนรู้ พัฒนาและปรับตัว ไม่มีใครที่มีทักษะมาตั้งแต่ต้น คนเราล้วนต่างเติบโตและได้รับการเลี้ยงดูมาในสังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้นบุคลิกนิสัยจึงแตกต่างกันไป บางคนมีบุคลิกผู้นำ บางคนพูดเก่ง บางคนเป็นคนขี้อาย บางคนมีจิตใจเมตตา อ่อนโยน บางคนแข็งกร้าว แต่ทุกคนก็สามารถเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง หรือที่เรียกว่า การพัฒนาบุคลิกภาพให้ดีขึ้นได้

การพัฒนาบุคลิกภาพ   ก่อนอื่นต้องทราบบุคลิกภาพที่ตนเองเป็น รู้จุดเด่น จุดด้อย รู้จุดที่อยากจะปรับเปลี่ยน มีความเข้าใจตนเอง และยอมรับสิ่งที่ตนเองเป็นโดยตั้งเป้าหมายชัดเจน และ มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะแก้ไขพัฒนาตนเอง ซึ่งอาจจะปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อนขอคำแนะนำปรึกษา เพราะการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ จะสามารถช่วยให้การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นไปอย่างมีแนวทางที่ชัดเจน

การพัฒนาบุคลิกภาพและการสร้างความมั่นใจเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากหากมีความมุ่งมั่นที่จะเผชิญกับความกลัวภายในใจ  และพร้อมที่จะนำสิ่งใหม่ๆเข้ามาทดแทนสิ่งเก่าๆที่เราอยากเปลี่ยนแปลง

การปรับตัวในสังคม คือ การที่เรามีทักษะทางสังคม จากการที่เราเข้าสังคมบ่อยๆ  มีการเรียนรู้และสังเกตผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชวนคุย การแต่งตัว มารยาท การวางตัว รู้กาลเทศะในการอยู่ในสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ทั้งสิ้น ดังนั้นใครที่คิดว่าตนเองมีทักษะในการเข้าสังคมน้อย หรือไม่กล้าเข้าสังคม อาจเป็นเพราะเรายังไม่มีประสบการณ์   การเพิ่มทักษะทางสังคมทำได้ง่ายๆเพียงแค่มีใจกล้าเข้าสังคม  โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเราจะทำอะไรผิดหรือไม่ เพราะทุกคนล้วนต้องผ่านการเรียนรู้สิ่งต่างๆมาก่อน การสังเกตเป็นสิ่งสำคัญ สังเกตบทสนทนา สังเกตการณ์แต่งตัว การยืน เดิน การรับประทานอาหาร การไหว้ ทักทาย พิธีการต่างๆ สังเกตและจดจำและนำมาปฏิบัติ  ก็จะทำให้เรามีทักษะทางสังคมที่มากขึ้น และเพิ่มความมั่นใจในตนเองของเราให้มากขึ้นด้วย

โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) เป็นโรคที่คนเรามักเป็นกันโดยไม่รู้ตัว คือมีอาการวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าตนเองจะเผลอทำอะไรผิดพลาด เปิ่นๆเชยๆที่ทำให้ต้องอับอาย กลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้าง มักจะกังวลหรือไม่มั่นใจไม่กล้าทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ไม่กล้าไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยไป ซึ่งดูเหมือนเป็นอาการของคนที่ปกติทั่วไปเป็นกัน แต่กับผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคม จะมีอาการมาก และไม่สามารถบังคับตนเองไม่กลัวการเข้าสังคมได้

สาเหตุของโรคกลัวสังคม เกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูในครอบครัว หรือการพบเจอกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็ก ซึ่งทำให้เป็นปมฝังใจ หรืออาจจะเกิดจากระบบการทำงานของสมอง พันธุกรรม  โรคนี้ สามารถพบได้ในทุกช่วงวัยทั้งเพศหญิงเพศชาย อาการของโรคจะชัดเจนในวัยเด็ก ไปถึงช่วงวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงวัยของการเริ่มเข้าสังคมมากขึ้น มักจะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (self-esteem) จนทำให้กลัวการเข้าสังคม

อาการของโรคแบ่งได้ 3 ประเภท คือ

1.อาการแสดงออกทางอารมณ์และความคิด

เช่น รู้สึกกังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเอง, กังวลกลัวว่าคนอื่นจะวิพากษ์วิจารณ์ตนเองในทางลบ, กลัวว่าตนเองจะทำเรื่องน่าอับอายขายหน้า  ,รู้สึกประหม่าไม่กล้าพูดกับคนอื่น

2.อาการแสดงออกทางร่างกาย

เช่น ไม่กล้าสบตา อาย หายใจหอบ ปั่นป่วนในท้อง อาเจียน ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก เหงื่ออกมาก หน้ามืด เวียนศีรษะ

3.อาการทางพฤติกรรม

ชอบการอยู่คนเดียว ไม่อยากเผชิญหน้ากับผู้คน มนุษยสัมพันธ์ไม่ดี มีเพื่อนน้อย ไม่กล้าทำอะไรคนเดียว ต้องมีเพื่อนคนที่ไว้วางใจอยู่ด้วย ไม่กล้าแสดงออกไม่กล้าเผชิญกับคนหมู่มาก

ผลกระทบ จะทำให้เป็นคนที่สุขภาพจิตไม่ดี ไม่มีความสุขกระทบต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนและเรื่องงาน และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

การรักษา  นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาจะใช้การพูดคุยให้ผู้มารับคำปรึกษาเปลี่ยนความคิดจากแง่ลบเป็นแง่บวก ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม ให้กล้าเผชิญหน้ากับความกลัวในใจ และค่อยๆฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม ฝึกสร้างมนุษยสัมพันธ์ให้ดีขึ้น  โดยการให้คำปรึกษาจะใช้ทฤษฎีต่างๆ ตามความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น ทฤษฎี CBT  (Cognitive Behavior Therapy ) เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการคิด และปรับพฤติกรรมไปด้วยกัน เมื่อทราบจุดที่ต้องแก้ไขแล้ว ต้องมีการวางแผน ให้การบ้านตนเองเป็นข้อๆเพื่อสร้างจุดหมายในการไปให้ถึง เช่น ในกรณีที่อยากพัฒนาทักษะในการเข้าสังคม เป็นคนที่คุยไม่เก่ง ขี้อายและไม่กล้าแสดงออกไม่เชื่อมั่นในตนเอง  อาจจะวางเป้าหมายโดยเริ่มจากสิ่งที่ทำได้ง่ายก่อน เช่น

  1. ใน 1 วันให้เริ่มต้นลองชวนเพื่อนคุยสัก 1-2 คนก่อน
  2. ฝึกทักทายเพื่อนในห้องที่ไม่สนิทกัน
  3. ยิ้มให้คนที่ไม่รู้จัก
  4. ออกไปเที่ยวพบปะกับกลุ่มเพื่อน
  5. ออกงานสังสรรค์
  6. ชวนเพื่อนใหม่คุย

ซึ่งเราสามารถกำหนดทำข้อตกลงกับตนเองหรือผู้ให้คำปรึกษาได้

ทั้งนี้การรักษาจะประสบความสำเร็จได้ย่อมขึ้นอยู่กับผู้รับคำปรึกษาเป็นสำคัญว่ามีความตั้งใจและพยายามทำการบ้าน เผชิญกับความกลัวในจิตใจตนเองมากน้อยแค่ไหน ต้องใช้ระยะเวลารักษาต่อเนื่องและมาขอรับคำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ